วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ส่วนต่างๆของหนังสือ

ส่วนต่าง ๆ ของหนังสือ
หนังสือโดยทั่ว ไปมักประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่ผู้อ่านควรทราบเพื่อประโยชน์ในการเลือกอ่านและศึกษาค้นคว้า จัดเรียงลำดับได้ดังนี้
1. ใบหุ้มปก
2. ปกนอก
3. ใบยึดปก
4. ใบรองปก
5. หน้าชื่อเรื่อง
6. หน้าภาพพิเศษ
7. หน้าปกใน
8. ปีลิขสิทธิ์
9. คำอุทิศ
10. คำนำ
11. ประกาศคุณูปการ
12. สารบาญ
13. รายชื่อภาพประกอบ
14. เนื้อหาของหนังสือ
15. เชิงอรรถ
16. บรรณานุกรม
1. ส่วนปก ประกอบด้วย

ใบหุ้มปก ( Book jacket )

คือ ส่วนที่หุ้มปกนอกของหนังสือ มีลักษณะเป็นกระดาษที่ออกแบบตกแต่งให้มีลวดลาย
สีสันสวยสะดุดตา จึงมี ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง อยู่ด้านหลัง ส่วนด้านหลังหรือส่วนที่พับเข้าข้างในมักจะเป็นประวัติสั้น ๆ ของผู้แต่งและผลงาน รวมทั้งมีเรื่องย่อ หรือคำวิจารณ์หนังสือเล่มนั้น ดังนั้น ใบหุ้มปกนอกจากจะช่วยให้หนังสือ โดยเฉพาะปกนอกใหม่และสะอาดแล้ว ยังดึงดูดความสนใจให้คนอยากอ่าน และให้ความรู้เกี่ยวกับหนังสือและผู้แต่งอีกด้วย

ปกนอก ( Cover )
คือ ส่วนที่หุ้มเนื้อเรื่องทั้งหมดรวมเข้าเป็นเล่มหนังสือประกอบเข้าด้วยกัน อาจเป็นปกแข็งหรือปกอ่อนก็ได้ หนังสือบางเล่มอาจมีชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง อยู่บนหน้าปก หรือตรงส่วนที่เป็นหนังสือ ซึ่งเป็นส่วนที่มองเห็นได้เมื่อหนังสือถูกจัดเรียงอยู่บนชั้น หนังสือปกอ่อน ซึ่งโดยปกติจะไม่มี ใบหุ้มปก จะมีชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์ไว้ครบถ้วน ลักษณะการออกแบบ ปกอ่อน จะเน้นทางด้านความสวยงาม และสะดุดตาเช่นเดียวกับใบหุ้มปก

ใบยึดปก ( End papers )
คือ ส่วนที่อยู่ถัดปกนอกเข้ามาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำหน้าที่ยึดปกนอกกับตัวเล่มหนังสือเข้าด้วยกัน จึงมักเป็นกระดาษที่มีคุณภาพเหนียวและทนทาน โดยมากไม่มีข้อความใด ๆ บนใบยึดปก แต่หนังสือบางเล่มอาจมีภาพแผนที่ แผนภูมิ หรือเครื่องหมายของสำนักพิมพ์ อยู่ที่
ใบยึดปก

ใบรองปก ( Fly leaves )

เป็นหน้ากระดาษเปล่า ที่ไม่มีข้อความใด ๆ อยู่ถัดจากใบยึดปก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่วยเสริมให้หนังสือแข็งแรงยิ่งขึ้น

2. ส่วนหน้า ประกอบด้วย

หน้าชื่อเรื่อง ( Halftitle page )
คือ หน้าที่อยู่ถัดจากใบรองปก มีเพียงชื่อเรื่องของหนังสือ หนังสือบางเล่มไม่มีหน้าชื่อเรื่อง

หน้าภาพพิเศษ( Frontispiece )
คือ หน้าที่มีภาพสำคัญในเล่ม เป็นภาพขนาดใหญ่เต็มหน้าหันหน้าภาพเข้าหาปกใน คือหน้าภาพพิเศษจะอยู่ทางด้านซ้าย และหน้าปกในอยู่ทางด้านขวา ภาพในหน้าภาพพิเศษอาจจะเป็นภาพบุคคลสำคัญถ้าเป็นหนังสือ ชีวประวัติ ภาพงานศิลปชิ้นเด่นๆ ถ้าเป็นหนังสือทางด้าน
ศิลปกรรม เป็นต้น

หน้าปกใน ( Title page )
จัดว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของหนังสือ เพราะให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของหนังสือเล่มนั้นๆอย่างสมบูรณ์ ได้แก่ ชื่อเรื่อง และชื่อรองหรือคำอธิบาย ชื่อเรื่อง ผู้แต่ง ซึ่งอาจจะเป็นนามจริงหรือนามแฝง หนังสือทางวิชาการจะลงนามจริงของผู้พร้อมทั้งแจ้งคุณวุฒิตำแหน่งหน้าที่การงานและชื่อเล่มสำคัญๆ ของผู้แต่งนั้นๆ ถ้าหนังสือนั้นมีผู้แต่งร่วม ผู้วาดภาพประกอบ ผู้แปล ผู้รวบรวมหรือบรรณาธิการ ก็จะมีชื่อคนเหล่านั้นอยู่ในหน้าปกในด้วย นอกจากนี้จะแจ้ง ครั้งที่พิมพ์ และ พิมพ์ลักษณ์ ได้แก่ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์หรือผู้จัดพิมพ์ และปีที่พิมพ์

ปีลิขสิทธิ์ ( Copyright date )
โดยมากมักจะปรากฏอยู่ด้านหลังของหน้าปกใน และบางครั้งจะอยู่หน้าเดียวกับหน้าปก ปีลิขสิทธิ์ คือปีที่หนังสือ เล่มนั้น ๆ ได้รับลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่าใครเป็น ผู้ถือลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนั้น หากผู้อื่นต้องการจะนำหนังสือนั้นไปพิมพ์เผยแพร่ จะต้องติดต่อ ขออนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์เสียก่อน มิฉะนั้น จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จากผู้เขียน หนังสือ ต่างประเทศทุกเล่มจะมีปีลิขสิทธิ์ แต่หนังสือภาษาไทยมีเพียงบางเล่มเท่านั้น

คำอุทิศ (Dedication)
หนังสือบางเล่มที่มีคำอุทิศของผู้แต่ง แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีบุญคุณ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเหลือในการเขียนหนังสือเล่มนั้น คำอุทิศเป็นข้อเขียนสั้น ๆ จะปรากฏในปกหน้า ต่อจากหน้าปกใน

คำนำ ( Preface Foreword Introduction )
ใช้เรียกต่าง ๆ กันในคำภาษาอังกฤษ และความหมายก็ผิดเพี้ยนกันบ้างเล็กน้อย คำว่า Foreword นั้น เป็นข้อเขียนแจ้งให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย ขอบเขต และการจัดลำดับ เรื่องราวของหนังสือเล่มนั้น รวมทั้งกล่าวขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วย เหลือต่อผู้เขียน บางครั้งใช้คำว่า Foreword แทนคำว่า Preface ถ้าข้อเขียนนั้นผู้หนังสือเล่มนั้นไม่ได้เขียนเอง แต่ไปขอให้ผู้อื่นเขียน โดยมากมักจะเขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีชื่อเสียงในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ข้อเขียนนั้นมักจะเป็นคำยกย่อง ชมเชย และแนะนำหนังสือต่อผู้อ่าน
หนังสือบางเล่มเรียกข้อเขียนนี้ว่า คำนิยม ส่วนคำว่า Introduction นั้น เป็นความนำที่ ผู้เขียนนำผู้อ่านเข้าสู่เนื้อเรื่อง ให้ขอบเขตและเนื้อหาสาระของหนังสือโดยตลอด จึงเป็นส่วนแรกของหนังสือที่ผู้อ่านทุกคนควรจะอ่าน หนังสือทางวิชาการทุกเรื่องควรจะต้องมี คำนำ (Introduction) ส่วน คำนำหรือคำนิยม (Preface, Foreword) จะมีหรือไม่มีก็ได้

ประกาศคุณูปการ (Acknowledgement)
คือ ข้อความที่ผู้เขียนกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือ ในการเขียนหนังสือเล่มนั้น บางครั้งอาจเขียนคำกล่าวขอบคุณรวมอยู่กับคำประกาศคุณูปการนี้ บางแห่งเรียกว่า
กิติกรรมประกาศ จะอยู่ในหน้าถัดจากหน้าคำนำ

สารบาญ หรือสารบัญ (Table of Contents)
จะเป็นหน้าที่มาก่อนส่วนที่เป็นเนื้อหาของหนังสือ บอกเนื้อหาสาระของหนังสือด้วยการแบ่งออกเป็นบท เป็นตอน ตามลำดับที่ปรากฏในหนังสือ ผู้อ่านควรอ่านสารบัญของหนังสือก่อนเพื่อที่จะได้ทราบหนังสือเล่มนั้น ๆ มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับอะไร โดยสังเขป และเรื่องใดอยู่ตอนใดหรือบทใดที่ต้องการได้อย่างสะดวก

รายชื่อภาพประกอบ (Lists of illustrations maps , charts , tables , etc )
หนังสือบางเล่มมีภาพ แผนที่ แผนภูมิ ตารางประกอบ และผู้เขียนต้องการหนังสือให้
ผู้อ่านทราบว่ามีอะไรบ้าง และอยู่ในหน้าใดของหนังสือ เพื่อจะหาสิ่งที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น ก็จะจัดทำรายชื่อหรือสารบัญ ภาพประกอบ แผนที่แผนภูมิ หรือตารางแยกเป็นหน้า ๆ ไป รายชื่อหรือสารบัญเหล่านี้จะอยู่ต่อจากสารบัญของเรื่อง


เนื้อหาของหนังสือ (text )
ส่วนสำคัญของหนังสือ บรรจุรายละเอียดของเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ โดยแบ่งเป็นบทเป็นตอน ตามที่ปรากฏอยู่ในสารบัญ
เชิงอรรถ ( footnotes )
คือส่วนอ้างอิงที่แสดงที่มาของข้อความ ข้อคิดเห็น และเรื่องราวที่อาจเป็นประโยชน์ประกอบเนื้อหาของหนังสือ โดยผู้เขียนนำมาจากเอกสารอื่น บางครั้งเชิงอรรถอาจเป็นการอธิบาย หรือข้อความเสริมเนื้อเรื่องบางตอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เชิงอรรถจะปรากฏอยู่ตอนล่างสุดของหน้าต่อจากเนื้อเรื่องในหน้านั้นๆ แต่หนังสือบางเล่มอาจรวมเชิงอรรถทั้งหมดไว้ท้ายบท หรือท้ายเล่ม
บรรณานุกรม (Bibliography )
คือรายชื่อเอกสารที่ผู้เขียนใช้เป็นหลักฐานค้นคว้าประกอบการเขียน และเรียบเรียงหนังสือนั้น เอกสารบรรณานุกรมมีทั้งหนังสือ บทความในวารสาร และสารานุกรมสิ่งพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งโสตทัศนวัสดุ บรรณานุกรมอาจอยู่ท้ายบทแต่ละบท หรือจัดรวมท้ายเล่มต่อจากบทสุดท้ายของหนังสือ อาจเรียกว่า เอกสารอ้างอิงก็ได้ บรรณานุกรมมีประโยชน์มากต่อผู้อ่าน ในการค้นคว้า เพิ่มเติมจากรายชื่อเอกสาร ที่รวมอยู่ในบรรณานุกรม
ภาคผนวก (appendix )
คือส่วนประกอบนอกเหนือจากเนื้อหาที่เพิ่มเข้ามา เพื่ออธิบายเนื้อหาของหนังสือให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ความรู้กว้างขวางและทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เช่น ตาราง แผนที่ แผนภูมิ ข้อมูลทางสถิติ ตัวอย่างต่างๆ เป็นต้น ภาคผนวกอยู่ต่อจากบรรณานุกรม อาจมีมากกว่า 1 ภาคผนวกก็ได้ หนังสือบางเล่มอาจไม่มีภาคผนวกเลย
อภิธานศัพท์ (glossary )
คือบัญชีคำศัพท์เฉพาะ หรือคำศัพท์ยากๆ ที่มีกล่าวอยู่ในเนื้อเรื่อง นำมารวบรวมไว้เป็นส่วนหนึ่ง ต่อจากภาคผนวก โดยปกติจะเรียงตามลำดับอักษรของคำ ให้คำอธิบายหรือคำจำกัดความสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจคำศัพท์เหล่านั้น และสามารถค้นหาคำอธิบายได้สะดวกและรวดเร็ว
ดัชนี (index)
คือบัญชีคำหรือหัวข้อย่อย ที่กล่าวไว้ในเรื่อง นำมาจัดเรียงรวมกันตามลำดับอักษรของคำหรือหัวข้อย่อย มีเลขของหน้าที่ปรากฏคำหรือหัวข้อย่อยนั้นๆ จะได้เปิดอ่านตรงส่วนที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องค้นหาตลอดทั้งเล่ม โดยทั่ว ๆ ไป ดัชนีของหนังสือจะอยู่ท้ายเล่มหนังสือ บางเล่มเรียกดรรชนีว่า สารบัญคำ

การระวังรักษาหนังสือ

การระวังรักษาหนังสือ คือการระวังรักษาไม่ให้สูญหายหรือชำรุดเสียหาย เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงควรระวังรักษาให้ใช้ประโยชน์ได้นาน ๆ เพื่อให้ใช้หนังสือได้อย่างคุ้มค่าได้ประโยชน์สูงสุด มีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติดังนี้
1. การระวังรักษาหนังสือไม่ให้สูญหาย

หนังสือของห้องสมุดอาจจะถูกนำออกโดยไม่ถูก ระเบียบ จึงควรป้องกัน ดังนี้
1.1 จัดให้มีทางเข้าออกทางเดียว เพื่อสะดวกในการควบคุมดูแล
1.2 อาจะมีเหล็กดัดชนิดตาถี่ๆ หรือตาข่ายเหล็กกั้นหน้าต่าง
1.3 ควบคุมระเบียบการยืมให้รัดกุม
2. การระวังหนังสือไม่ให้ชำรุดเสียหาย

1.1 อย่าเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดสอดไว้ระหว่างสันของหนังสือ
1.2 อย่าใช้ของที่มีความหนา เช่น ดินสอ ไม้บรรทัด ยางลบ หรือสมุดคั่นหนังสือ ควรใช้กระดาษบาง ๆ คั่นหรือใช้ที่คั่นหนังสือที่ทำด้วยพลาสติก หรือเป็นริบบิ้น เป็นต้น
1.3 อย่าพับมุมกระดาษ เพื่อทำเครื่องหมายหรือเพื่อเหตุผลอื่นใด ควรใช้กระดาษบางหรือที่คั่นหนังสือ (Book Mark)
1.4 อย่าขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใด ๆ ลงในหนังสือ ถ้าต้องการจดข้อความในตอนใดที่เห็นว่าสำคัญ ควรจะจดไว้ในสมุดบันทึก ระบุชื่อหนังสือ เลขหน้า และบรรทัดที่… เพื่อจะได้มาดูรายละเอียดได้ภายหลัง หรือจะทำบรรณนิทัศน์สังเขปในกระดาษ ๓ x ๕” ก็ได้
1.5 อย่าทำหนังสือเปรอะเปื้อนหรือเปียกชื้น ขณะที่อ่านหนังสือ ควรระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้น้ำหมึก หรือเครื่องดื่มใด ๆ หกราดหนังสือ และถ้าฝนตกในขณะที่กำลังอยู่ บนถนน ไม่ควรใช้หนังสือบังศรีษะแทนร่มโดยเฉพาะอย่างยี่งถ้าหนังสือเล่มนั้น เป็นหนังสือที่ยืมมาจากห้องสมุด ทางที่ดีคือ ควรหลบฝนในที่ใดที่หนึ่งเพื่อความปลอดภัยของท่านเองและหนังสือด้วย
1.6 อย่าฉีกส่วนหนึ่งส่วนใดของหนังสือเป็นอันขาด ถ้าต้องการข้อความตอนใด ควรปฏิบัติตามในข้อ 4 เพราะถ้าท่านฉีก คนหลัง ๆ ก็จะหมดโอกาสใช้หนังสือนั้นอีก ต่อไป


วิธีการเปิดหนังสือใหม่

ถ้าท่านซื้อหนังสือใหม่มาเล่มหนึ่ง ก่อนที่จะลงมืออ่านอย่างจริงจังควรหุ้มปกกระดาษ สวยงามหรือหุ้มพลาสติกเสียก่อน และทุกครั้งก่อนที่จะหยิบหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด ควรล้างมือให้สะอาด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรเช็ดมือให้สะอาดกว่าปรกติ เพื่อว่าหนังสือจะได้ไม่สกปรกเร็ว เกินไป จากนั้นก็ปฏิบัติตามลำดับดังนี้

หนังสือปกแข็ง
1. วางสันหนังสือทาบกับพื้นโต๊ะ
2. เปิดปกหน้าและหลังออกให้กางกับพื้นโต๊ะ ใช้นิ้วมือรีดปกด้านในตอนที่ติดกับสันจากบนลงล่างให้เรียบ
3. เปิดหนังสือด้านหลังประมาณ 10 แผ่น แล้วใช้นิ้วรีดเช่นเดียวกับข้อ 2
4. เปิดหนังสือด้านหน้าประมาณ 10 แผ่น แล้วใช้นิ้วรีดเช่นเดียวกับข้อ 2
5. ทำสลับกันไปจนถึงกลางเล่ม
ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อว่า ถ้ามีหน้าใดติดกับอีกหน้าหนึ่ง เนื่องจากความใหม่ของกระดาษ หรือเป็นเพราะโรงพิมพ์ตัดกระดาษไม่ขาดจากกันหรือเหตุผลอื่นๆ ที่จะได้จัดขลิบให้เรียบร้อยก่อน ลงมือใช้ ไม่เช่นนั้น ในขณะที่ท่านอ่านอย่างรีบร้อนและพบกระดาษสองแผ่นติดกันอยู่ตรงมุมหรือมากกว่านั้น ก็มักจะฉวยเอาสิ่งของใกล้ตัว เช่น ดินสอ หรือไม้บรรทัด มาตัดกระดาษสองแผ่นนั้นออกจากกัน ทำให้หนังสือไม่เรียบร้อยและอาจฉีกขาดได้
ถ้าหนังสือสองหน้า ผู้พิมพ์ตัดไม่ขาดจากกัน ควรหามีดคมๆ ตัดออก ถ้าใช้ใบมีดโกนควรตัดอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจแฉลบเข้ามาทำให้หนังสือเว้าๆ แหว่ง ๆ ได้
ถ้ามุมของหนังสือพับอยู่ ควรคลี่ออกมาและตัดกระดาษส่วนที่เกินออกไป ไม่ควรฉีก ตรงรอยพับออก

หนังสือปกอ่อน ที่เข้าเล่มโดยวิธีไส่สัน ทากาว ควรพับปกหน้าและปกหลังห่างจากสันหนังสือประมาณ 1 ซ.ม.

ไม่มีความคิดเห็น: